เพิ่มความสุขให้ชีวิต… มาเลี้ยงบอนไซกันนะครับ
บอนไซ หรือ ไม้แคระ ที่เรียกกันทั่วไปนั้น เป็นศิลปะในการปลูกต้นไม้โดยการย่อส่วนจากต้นไม้ขนาดใหญ่ มาปลูกในกระถาง หมั่นดูแลตัดแต่งกิ่งใบ ท่านก็จะได้ชื่นชมการเติบโตภายใต้ความสวยงามที่ท่านเองกำหนดขึ้นจากจินตนาการของท่าน ทั้งนี้อาจจะเป็นไม้ต้นตรง ไม้ต้นคู่ ไม้เอน ไม้กลุ่ม ไม้ต้องลม ไม้ตกกระถาง ไม้เกาะหิน ฯลฯ ก็แล้วแต่โครงสร้างของต้นไม้ที่ได้มา นอกจากนั้นถ้าหากเป็นไม้ดอก ไม้ผล ก็ยิ่งสามารถทำให้ท่านสุขใจไปอีกแบบหนึ่งด้วย
ตามตำราญี่ปุ่น บอน แปลว่า ถาด ไซ แปลว่า สิ่งที่ปลูกหรือการปลูก ดังนั้น ถ้าแปลรวมกันก็คือ สิ่งที่ปลูกในถาด ความหมายนี้ขยายไปถึงลักษณะต่อไปนี้ด้วยคือ
1. บอนไซ เป็นต้นไม้ที่คนเราสร้างขึ้นจากการนำต้นไม้มาดัดแปลงให้เข้าลักษณะที่ต้องการ
2. ต้องเป็นต้นไม้ที่ปลูกในกระถาง
3. ต้องเป็นต้นไม้ขนาดเล็กที่ย่อส่วนมาจากต้นไม้ใหญ่ในธรรมชาติ
4. ต้องมีความงดงามตามสัดส่วน ให้ภาพต้นไม้ใหญ่ขนาดสมดุลกับกระถางที่ปลูก
5. อายุบอกคุณค่าไม้เลี้ยงเก่าแก่มานานยิ่งมีคุณค่า
6. บอนไซแสดงให้เห็นศิลปะและจินตนาการของผู้ปลูก
7. บอนไซแสดงถึงความสามารถ ความมานะอดทน เพราะผู้ปลูกที่ต้องดูแล เอาใจใส่ ตกแต่งกิ่ง ใบ ให้รักษารูปทรงงดงามได้ตลอดไป
การเลี้ยงบอนไซในปัจจุบันแพร่หลายไปทั่วโลก ในหลายๆประเทศมีสมาคม ชมรมผู้เลี้ยงบอนไซ จนเกือบลืมไปว่าศิลปะแขนงนี้เกิดจากประเทศตะวันออกโดยเฉพาะจีน และญี่ปุ่น ถ้าหากพิจารณากันจากหลักฐานที่สามารถอ้างอิงได้ การเลี้ยงบอนไซมีกำเนิดจากมาจากประเทศจีนเป็นพันปีมาแล้ว ในจีนเรียกว่า เผ็งจิ่ง (penjing) แปลว่าต้นไม้ในถาด รูปแบบแตกต่างกันเล็กน้อยเพราะแบบจีนปล่อยให้มีการเติบโตตามธรรมชาติมากกว่าแบบญี่ปุ่น การเลี้ยงบอนไซในญี่ปุ่นเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 800 กว่าปี
เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นมีสภาพเป็นเกาะ มีพื้นที่จำกัด ชาวญี่ปุ่นมีความผูกพันกับธรรมชาติมาก เช่นภูเขา แม่น้ำลำธาร ทะเล และต้นไม้ ชาวญี่ปุ่นมีความพิถีพิถัน รักการประดิษฐ์ตกแต่ง ดังเห็นได้จากข้าวของเครื่องใช้ และการจัดทำอาหาร ด้วยเหตุที่พื้นที่จำกัดชาวญี่ปุ่นจึงพยายามย่อส่วนต้นไม้ตามธรรมชาติมาไว้ในกระถาง เพื่อดูแลชื่นชมในที่พักอาศัยจนบอนไซเป็นศิลปะแขนงหนึ่งของญี่ปุ่นและได้แพร่หลายไปทั่วโลก รวมทั้งบ้านเราด้วยซึ่งตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่าศิลปะนี้ได้ผ่านชาวญี่ปุ่นนำมาเผยแพร่ในสมัยอยุธยา
ในประเทศไทยมีการเลี้ยงไม้แบบไทยที่เรียกว่า ไม้ดัด ซึ่งมีประวัติยาวนานพอควรตั้งแต่สมัยอยุธยาเช่นกันและแพร่หลายเป็นที่นิยมมากในสมัยรัตนโกสินทร์ ไม้ดัดไทยมิได้ใช้การตัดแต่งให้เป็นการย่อส่วนตามต้นไม้ธรรมชาติแต่มีตำรากระบวนท่าไม้ดัดไทยแบบต่างๆขึ้นเฉพาะ และในแบบที่กล่าวก็มีไม้ญี่ปุ่น เป็นแบบหนึ่งด้วย ซึ่งกำหนดว่าต้องมีโคนใหญ่ปลายเรียว กิ่งก้านกระจายไม่ถูกกำหนดตายตัวตามรูปแบบไม้ดัดไทยแบบอื่น จึงคล้ายกับบอนไซมาก